เล่ห์ศึกในอดีตกาล
June 12th, 2009ในการศึกสงครามนั้น แต่ละฝ่ายก็มุ่งหวังที่จะเอาชนะ ซึ่งถ้าสามารถสอยฝ่ายตรงข้าม ได้ด้วยศักยภาพของกองทัพโดยตรงแล้ว ก็จัดว่าเป็นศึกธรรมดาทั่วไป (Conventional Warfare) แต่ถ้ามีพละกำลังน้อยกว่า ไม่สามารถปะทะฝีมือได้ ต้องใช้กลยุทธ์ที่ข้าศึกนึกไม่ถึง มาต่อกรจนได้ชัยชนะ ดัง?จะ?นำ?มา?เล่าสู่?กัน?ฟังหนนี้ครับ
กลยุทธ์เก่าแก่ที่สุดน่าจะได้แก่มหาสงครามในตำนานของท่านกวีกรีก โฮเมอร์ ใช่แล้ว สงครามกรุงทรอย นั่นเอง โดยเมื่อทัพกรีกที่กรีธาข้ามทะเลอีเจียนไปตีกรุงทรอยเพื่อชิงเอาเฮเลน ชายาคนงามของท้าวเมเนเลียสกลับคืนมา แต่กลับถูกฝ่ายทรอยที่เล็กกว่ายันไว้ได้เกือบ 10 ปี กระทั่งขุนศึกสำคัญของทั้ง 2 ฝ่ายได้จบชีวิตลงไปด้วยกันเกือบหมด สุดท้าย โอดิสซีอุส กุนซือของกรีกจึงต้องงัดเอากลศึกม้าไม้ขึ้นมาใช้ เมื่อฝ่ายทรอยหลงกลขนเอาม้าไม้มหึมาเข้าไปในเมือง ตกดึกทหารกรีกที่ซ่อนตัวอยู่ภายในตัวไม่จึงออกมาทำลายล้างกรุงทรอยจนพินาศแบบโหดร้ายทารุณ สาสมกับความแค้นที่อัดอั้นมาแต่เริ่มศึก ฆ่าผู้ชายทุกคนในเมือง ข่มขืนสตรีแล้วก็จับเอาไปเป็นนางบำเรอและทาส ส่วนท้างเปรียมกษัตริย์ทรอยก็ถูกปลงพระชนม์ที่หน้าแท่นบูชาเทพเจ้า
ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่า สงครามกรุงทรอยนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงนิยายที่โฮเมอร์สร้างสรรค์ขึ้น แต่นักโบราณคดีผู้โด่งดัง ไฮน์ริช ชไลมานน์ ได้ขุดค้นพบซากเมืองโบราณ ในปีค.ศ.1873 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นเมืองเดียวกับกรุงทรอยในอดีต
ศึกต่อมาเป็นการยกทัพข้ามแผ่นดินยาวไกลบ้างโดย ขุนทัพจากแอฟริกานาม ฮันนิบาล ฮันนิบาล (Hannibal) ถือกำเนิดในปีที่ 247 ก่อนค.ศ. ณ นครคาร์เธจ หรือตูนิเซียในปัจจุบัน บิดาของเขาคือจอมทัพฮามิลคาร์บาร์ต ผู้เสียชีวิตในสงครามกับโรมัน ซึ่งเป็นศัตรูสู้รบขบเคี่ยวกันมากับคาร์เธจโดยตลอด และฝากฝังให้ ฮันนิบาล ผู้บุตรกระทำศึกล้างแค้นแทนต่อไป
ปีที่ 218 ก่อนค.ศ. ฮันนิบาล วางแผนการณ์โจมตีอาณาจักรโรมัน เส้นทางที่สั้นที่สุดจากคาร์เธจไปสู่อิตาลีนั้นคือทางเรือ โดยฝ่าทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หากทว่าคาร์เธจไม่มีกองทัพเรือ หนทางเดียวที่จะทำศึกได้คือ ยกขบวนรี้พลเดินเท้าเป็นระยะทาง 1,500 ไมล์ สู่กรุงโรม กองทัพฉันนิบาลประกอบด้วยทหาร 90,000 นาย ม้าศึก 12,000 ตัว และช้างศึก 37 เชือก
ทั้งนี้เพราะฮันนิบาลรู้ดีว่าทัพของเขาจะต้องฟันฝ่าข้ามขุนเขาแอลป์ ที่เต็มไปด้วยก้อนหินระเกะระกะ จึงต้องการพาหนะที่แข็งแกร่งในการบรรทุกสัมภาระทั้งเสบียงและอาวุธ และเขาก็พบว่าช้างแอฟริกาน่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะสมที่สุด
ช้างศึกประจำองค์ของฮันนิบาล มีชื่อว่า เซอร์ริส สูงใหญ่กว่าช้างทั่วไปที่มีความสูง 9-8 ฟุต ช้างทุกตัวจะมีควาญควบคุม
เส้นทางของทัพคาร์เธจอ้อมคาบสมุทรแล้วผ่านสเปนข้ามเขาไพรีนีส์อย่างสบายๆ เป็นการพิสูจน์ว่าทัพช้างเดนทางได้ดี กระทั่งมาถึงตอนใต้ของฝรั่งเศส ก็เจออุปสรรคสำคัญ นั่นคือ แม่น้ำโรนอันเชี่ยวกราก
ช้างนั้นไม่กลัวภูเขา แต่หวาดหวั่นกระแสน้ำ จึงไม่ยอมลุยข้ามไป ฮันนิบาลสั่งการให้ไพร่พลสร้างแพขนานต่อกันข้ามฟากสู่ตลิ่งตรงกันข้าม แล้วขนดินมาปูบนท้องแพ เพื่อลวงตาคชสารว่าเป็นแผ่นดิน หากทว่า ช้างศึกฉลาดกว่าที่คิดจึงไม่สำเร็จ
และแล้ว ควาญช้างนายหนึ่งก็ปิ๊งไอเดียทีเด็ด เขามีช้างพังที่กำลังเป็นสัดพอดี จึงขี่ช้างพังเชือกนี้นำหน้าลงแพ เหล่าช้างพลายที่เหลือต่างก็ไม่รอช้า รีบมุ่งหน้าติดตามนางช้างพังอย่างกระชั้นชิด เพื่อหวังผสมพันธุ์ด้วยตัณหาตามธรรมชาติ
ในที่สุดทัพม้าทัพช้างของฮันนิบาลก็มาถึงเทือกเขาแอลป์ ในเดือนตุลาคม ของปีที่ 218 ก่อนค.ศ. ก่อนหน้าฤดูหนาวอันหฤโหดจะมาถึง ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ฮันนิบาลรู้ดีว่าทหารของเขาจะต้องถึงฆาตจากอากาศเยือกเย็นและการขาดอาหาร เขาจึงยกพลรีบเร่งตัดช่องเขาแอลป์ ที่มีความสูงราว 9,000 ฟุต โดยส่งทหารช่างนำหน้าเพื่อปรับพื้นที่ถนน ตามด้วยทัพม้า และทัพช้าง
ระหว่างช่องทางผ่าน ฮันนิบาลชักจูงให้ชนเผ่าท้องถิ่นเข้าร่วมในขบวนทัพไปตีโรม ซึ่งเมื่อเผ่าต่างๆได้เห็นทหารที่ฮึกเหิม อาวุธและช้างม้าครบครัน ก็เชื่อว่าทัพนี้น่าจะพิชิตโรมได้ จึงพากันเข้าร่วมด้วย
แม้การข้ามแอลป์จะเป็นผลสำเร็จ แต่ฮันนิบาลก็ต้องสังเวยชีวิตทหารของเขาให้แก่ความกันดารและหนาวเหน็บไปถึง 65,000 นายเกือบสามในสี่ของกองทัพที่ยกมา
แล้วกองทัพของทั้ง 2 ฝ่ายก็เผชิญหน้ากัน ณ แม่น้ำทิซินุส ทหารโรมันเมื่อได้เห็นช้างเป็นครั้งแรกในชีวิตก็ถึงกับตลึงพรึงเพริด และในการปะทะกับแบบย่อยๆที่เกิดขึ้น ฝ่ายคาร์เธจก็สามารถกำชัยชนะเอาไว้ได้
ทว่าไม่นาน โรมันก็อาศัยแท็คติก ที่เพิ่งค้นพบในการสู้รบกับทัพคชาสารตัวมหึมา ตัวมันใหญ่โตก็จริง หากทว่า มันกลับรังเกียจกลิ่นโลหิต
เมื่อโรมันได้รู้จึงใช้วิธีเหี้ยมเกรียม นั่นคือ ตัดคอม้าศึกในทัพหน้า จนเลือดพุ่งเหม็นคาวคลุ้งไปทั่ว พอช้างได้กลิ่นเลือดก็ออกอาการแตกตื่น หันหลังกลับและวิ่งตลุยเข้าไปในทัพของมันเอง เมื่อเห็นไพร่พลโดนช้างเหยียบย่ำ ฮันนิบาลจึงมีบัญชาให้ควาญช้างจัดการสังหารมันในทันที เหล่าควาญช้างจึงใช้ตะบองตอกตะขอเหล็กเข้าไปที่ลำคอของช้าง ตัดเส้นเลือดใหญ่ขาด เจ้าสัตว์มหึมาพลันล้มลงสิ้นใจ
คชาสารบางเชือกเหลือรอดชีวิตมาได้ แต่ก็ไม่อาจทานทนต่อความหนาวเยือกในเหมันตฤดูที่มันไม่เคยได้สัมผัส คงเหลือเพียงเชือกเดียวคือ เซอร์ริส คชาประจำองค์ฮันนิบาล ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของจอมทัพแห่งคาร์เธจผู้ประทัพอยู่บนคอของมันทุกครั้งที่ออกศึก
กลยุทธ์หนึ่งซึ่งฮันนิบาลมักนำมาใช้ได้แก่ ลวงให้ข้าศึกถลำเข้ามาติดกับในวงล้อมแล้วทหารราบกับทหารม้าที่เก่งกาจกว่าก็จัดการสังหารเสียทั้งนี้พระองค์จะตั้งแนวทัพโดยให้ฝ่ายข้าศึกต้องหันหน้าเข้าหาแสงแดด อีกทั้งตรวจสอบทิศทางของกระแสลม เพราะเมื่อเกิดการสู้รบตะลุมบอนก็ย่อมบังเกิดฝุ่นฟุ้งตลบ ข้าศึกซึ่งอยู่ใต้ลมจะโดนฝุ่นละอองธุลีปลิวเข้าหาหน้าตาจนมองไม่เห็น นอกจากนี้ก่อนการทำศึกทุกครั้ง ฮันนิบาลจะให้ทหารได้กินอาหารดีๆเต็มอิ่มเพื่อจะได้มีพละกำลัง แถมยังให้ทุกคนทาตัวด้วยน้ำมันมะกอก ป้องกันสัมผัสจากลมที่เย็นยะเยือก
นับเป็นจอมทัพที่นำกลยุทธ์ทุกรูปแบบมาใช้ในการศึก
ทว่าด้วยรี้พลที่น้อยกว่า รบอย่างไรก็ไม่อาจตีโรมันให้แตกได้
กระทั่งในที่สุด ทัพโรมันก็โอบล้อมค่ายคาร์เธจได้ที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่งในตุรกีปัจจุบัน จอมทัพฮันนิบาลในชันษา 65 พร้อมด้วยชายา และธิดาต้องจบชีวิตลง
จอมยุทธ์ชื่อก้องโลกอีกผู้หนึ่งย่อมได้แก่ เจงกิสข่าน ผู้มั่นหมายครอบครองโลก
ท่านข่านถือกำเนิดในปี ค.ศ.1162 ในบ้านชาวนาใกล้แม่น้ำโอนอน มองโกเลีย มีชื่อเดิมว่า เตมูจิน ช่วงนั้นชนมองโกลกระจายเป็นเผ่าเล็กเผ่าน้อย เมื่อเตมูจินเติบใหญ่ขึ้นก็ได้ทำศึกรวบรวมทีละเผ่าจนกระทั่งเป็นหนึ่งเดียว และตั้งตนเป็นจักรพรรดิในนาม เจงกิสข่าน พร้อมกับสร้างกองทัพมองโกลให้เกรียงไกร
นักรบมองโกลนั้นได้รับการฝึก ให้ขี่ม้าเป็นตั้งแต่ก่อนเดินได้เสียอีก พวกเขายังชีพด้วยการเลี้ยงฝูงม้า จึงเชี่ยวชาญในการขับขี่บังคับอาชาอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังสามารถใช้ธนูขณะอยู่บนหลังม้าได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำ
ทัพม้ามองโกลเดินทางได้รวดเร็วกว่าทหารเดินเท้าหลายสิบเท่า ทหารแต่ละคนมีม้าประจำกาย 5 ตัว และสลับเปลี่ยนขี่ระหว่างเดินทาง ทำให้ม้าไม่เหน็ดเหนื่อยและวิ่งได้เต็มกำลัง ความรวดเร็วในการเคลื่อนทัพจึงทำให้ข้าศึกไม่ทันรู้ตัวและเป็นกลศึกสำคัญที่ทำให้มองโกลพิชิตสงครามได้อย่างราบคาบ
กระทั่งว่าในช่วงค.ศ.1206 ถึง 1226 นั้น จอมจักรพรรดิเจ็งกิสข่านสามารถแผ่ขยายอาณาจักรมองโกละครอบคลุมได้ถึงสองในสามของแผ่นดินเอเชียและยุโรป รวมถึงรัสเซีย จีน โปแลนด์ อิหร่าน ฯลฯ เข้าไว้ด้วย
นักรบมองโกลทำศึกดุจเดียวกับพวกเขาล่าสัตว์ โดยจะช่วยกันไล่ล่าให้สัตว์ตกอยู่ในวงบ้อม จากนั้นก็รุมสังหารอย่างรวดเร็ว
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในขณะตั้งค่ายพักแรม ทหารแต่ละคนจะจุดกองไฟขึ้น 5 กอง ทำให้ข้าศึกเห็นประหนึ่งมีรี้พลมหาศาล เพราะสว่างไสวไปทั้งค่ายในยามกลางคืน ส่วนการเดินทางยามกลางวัน เนื่องจากทุกคนมีม้า 5 ตัว บางครั้งจึงให้ผู้หญิงและเด็กนั่งบนตัวม้าที่ปล่อยไว้เบื้องหลัง แลดูแล้วเหมือนมีขบวนทัพที่ยาวเหยียดต่อเนื่อง ราวกับแสนยานุภาพถึงครึ่งล้าน ทั้งที่จริงแล้วมีทหารอยู่เพียงแค่แสนเดียว นี่เป็นจิตวิทยาที่ทำให้ข้าศึกหวั่นไหว และหมดกำลังใจที่จะสู้
แต่ไม่ทันที่จะได้ครองโลกดังใจ ท่านข่านก็เผอิญสิ้นชีพเสียก่อนใน ค.ศ.1227 จากอุบัติเหตุในระหว่างการล่าสัตว์ ทิ้งไว้แต่จารึกในประวัติศาสตร์ถึงความเป็นขุนศึกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของโลก
เล่ห์สงครามสุดท้ายที่จะนำมาเล่า ออกจะเป็นกลยุทธ์อันน่าขยะแขยงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.1346
แคฟฟา (Kaffa) เป็นเมืองท่าริมทะเลดำของอิตาลี เป็นจุดสุดท้ายของเส้นทางสายไหมจากเมืองจีน และตั้งอยู่ติดกับชายแดนของอาณาจักรมองโกล โดยทัพมองโกลก็ได้มารายล้อมอยู่นอกกำแพงเมืองเมือง แต่ยังไม่อาจโจมตีแคฟฟาให้แตกได้
และแล้วก็ได้เกิดการระบาดของเชื้อกาฬโรค ในหมู่ทหารมองโกลที่ติดเชื้อมาจากดินแดนตะวันออก ตามผิวหนังของผู้ป่วยจะบวมและเกิดจุดดำๆอันเนื่องมาจากการตกเลือดภายในร่างกาย สุดท้ายทหารมองโกลก็ล้มตายเกลื่อนกราด ซากทหารที่ตายทำให้แม่ทัพมองโกลเกิดไอเดียกระฉูด แทนที่จะต้องเสียเวลากำจัดหรือฝังศพ เขาได้บัญชาในนำทหารเหล่านั้นวางลงในเครื่องยิงก้อนหิน แล้วดีดศพให้ลอยละลิ่วข้ามกำแพงเมืองแคฟฟาเข้าไป
นอกจากจะน่าเกลียดและส่งกลิ่นเหม็นเน่าแล้ว ที่สำคัญศพทหารมองโกลยังแพร่เชื้อกาฬโรคสู่ชาวเมืองแคฟฟา เกิดการระบาดและคร่าชีวิตชาวเมืองไปมากมาย หลายคนจำต้องทิ้งบ้านเรือนและหนีไปอิตาลี พวกเขาลงเรือออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นำเชื้อกาฬโรคระบาดไปทั่ว สู่เกาะซิซิลี สู่นครคอนแสตนติโนเปิล ในที่สุดยุโรปตะวันตกทั้งหมดก็ตกอยู่ใต้มหันตภัยของโรคร้ายนี้
กาเบรียล เดอ มุสซี่ นักประวิติศาสตร์อิตาลีได้บันทึกถึงความร้ายกาจของเชื้อกาฬโรคที่เขาได้เห็นกับตาว่า
“…พระเจ้า! บรรดาเรือสินค้าของเราที่แล่นเข้าสู่เมืองท่า ลูกเรือจำนวนนับพันนั้น แทบจะเหลือไม่ถึงสิบ…”
ผลแห่งกลยุทธ์มองโกลส่งความหายนะเกินคาด ภายในช่วง 3 ปีหลังจากนั้น กาฬโรคได้คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 25 ล้านคน เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรยุโรป ส่วนมองโกลก็หาได้ประโยชน์จากอาวุธชีวภาพของตนไม่ เพราะ ทหารมองโกลเอง ก็ต้องรับเคราะห์ล้มตายจากกาฬโรคไปด้วยเช่นกัน เดอ มุซซี่ เขียนไว้ว่า
“นี่อาจเป็นสวรรค์บันดาลให้คนบาปต้องได้รับโทษจากการกระทำของตน”
เรื่องราวของเล่ห์ศึกอื่นๆในอดีตยังมีอีก ถ้าสนใจก็ติดตามดูได้จาก โทรทัศน์ทรูวิชั่น ช่อง History (44) ในชื่อเรื่อง “Unconventional Warfare” ในวันที่ 22 กันยายน เวลา 20.00 น. คร้าบผม
เรื่องนี้จากนิตยสารรายเดือน ต่วย’ตูนพิเศษ ประจำเดือนกันยายน 2550