กรุงโรมล่มเพราะคนเถื่อนหรือยาพิษ
ในบรรดาอาณาจักรอันรุ่มรวยที่สุด ของโลกในสมัยโบราณ โรมนับเป็นเมืองที่ร่ำรวยที่สุด ความจริงอันนี้ คงไม่มีใครเถียงเลยนะคะท่านผู้อ่าน แต่ว่าเมื่อมีรุ่งมันก็ต้องมีเสื่อมเป็นธรรมดา โรมเสื่อมลงเพราะหลายสาเหตุ และหลายสาเหตุนี้นำไปสู่ความวิบัติซึ่งถูกกระหน่ำซ้ำเติม ด้วยการโจมตีจากคนเถื่อนอย่างที่เราเข้าใจกัน
แต่ในหลายๆสาเหตุที่เข้าใจกันมา มันครบหมดแล้วจริงหรือเปล่า ?
วันนี้เราจะมาพูดเรื่องนี้กันสักหน่อย
ย้อนเหตุการณ์กันหน่อยนะคะ ในคืนหนึ่งอันร้อนอบอ้าว ในปีค.ศ. 410 ประตูเมืองโรมที่ถูกปิดตาย ก็ถูกคนพวกหนึ่งเชื่อกันว่าเป็นพวกทาส เปิดออกรับชาวโกธที่ตั้งค่ายอยู่รายรอบ กองทัพคนเถื่อนพวกนี้นำโดย อลาลิค เข้าล้อมและปล้น “นครอมตะ” เป็นเวลากว่า 3 วัน เมืองที่ได้ชื่อว่าไม่เคยถูกใครรุกรานเป็นเวลาถึง 800 ปี ก็สิ้นชื่อ
ข่าวโรมช็อกโลก เซนต์เจโรม คนเมืองโรมโดยกำเนิด ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เบธเลเฮมถึงกับคร่ำครวญ
“เมื่อแสงที่สว่างที่สุดของโลกทั้งมวลดับลง เมื่ออาณาจักรโรมันไร้แล้วเสียซึ่งศีรษะ เรียกได้ว่า คือโลกทั้งโลกตายไปพร้อมนครแห่งนั้น ทำให้ข้าพูดอะไรไม่ออกแม้แต่คำเดียว”
มันเป็นข่าวเศร้าสำหรับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะพวกคริสเตียนทีเดียวค่ะ นครใหณ่ร่มสลาย นครใหญ่ซึ่งเป็นเมืองอันเต็มไปด้วยความก้าวหน้า ยังเป็นขุมกำลังสำคัญของชาวคริสต์ เมื่อถูกปล้นถูกโจมตี ก็ไม่ได้หมายแค่ความย่อยยับของนครแห่งนั้น หากเป็นทั้งโลกคริสเตียน
เหตุหนึ่งที่ทำให้โรมันตะวันตกล่ม มาจากความอ่อนแอของชาวโรมัน ทหารโรมันในระยะหลังกลับไม่ใช่คนโรมแท้ๆ คนร่ำรวยไม่อาจเป็นทหาร เพราะถูกจักรพรรดิกีดกันกลัวจะเข้ามาหาเสียงล้มบัลลังก์ ข้างคนจนแม้อยากเป็นทหารก็ถูกภาวะในการทำมาหากินบีบรัดทำให้เป็นทหารไม่ได้ จักรพรรดิโรมันต้องการหาทางออกด้วยการจ้างทหารต่างชาติ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนเถื่อนพวกนี้แหละค่ะ บางคราวจ้างทั้งเผ่าเลยก็มี โดยเฉพาะพวกเชื้อสายเยอรมันเป็นพวกที่ชาวโรมจ้างไว้ในกองทัพมากที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความภักดี ความรักชาติต้องแตกต่างจากชาวโรม เขาทำตามที่หัวหน้าของเขาสั่งเท่านั้น
อลาริค เองก็เป็นหัวหน้าคนเถื่อนเผ่าหนึ่งที่รับจ้างเป็นทหารให้กรุงโรม เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เขาเพียรขอตำแหน่งผู้บังคับบัญชาคุมกำลังพันธมิตร และขอแผ่นดินพอที่จะแบ่งให้ผู้คนในอาณัติได้ทำกิน เขาแค่อยากเข้าไปมีส่วนในความร่ำรวยของคนโรมที่เขาร่วมรักษาเท่านั้น แต่ว่าสิ่งที่ชาวโรมตอบสนองกลับมาก็เพียงให้เงินเขามากขึ้นเป็น 2 เท่า และไม่แยแสในสิ่งที่เขาขอเลย ครั้นมาถึงจุดที่ทนไม่ไหวอีกต่อไป อลาริกก็นำพวกเขามาล้อมและปล้น ต้องการให้คนโรมเห็นแสนยานุภาพของทัพชาวป่ามากกว่าที่จะจ้องทำลายเมืองโรมจริงๆ
นี่ก็เป็นเพราะว่าอลาริกเป็นคนที่เลื่อมใสในความรุ่งเรืองของคนโรมเช่นเดียวกับคนของเขา
พวกเถื่อนที่นำโดยผู้นำคนนี้รับเอาวัฒนธรรมของชาวโรมไว้ในวิถีชีวิตมากมาย ขนาดเมื่อมีการสร้างวังของทายาทอลาริกที่ตูลูส คนโรมันที่เคยเห็นกล่าวว่า
“มันเป็นการผสมผสานที่ดีที่สุดของความปรานีตแบบกรีก ความหรูหราแบบอิตาลี และความมีพลังของชาวกอล”
นี่แตกต่างจากสภาพของชาวโรมที่อยู่ห่างไกลปืนเที่ยงแทบจะตรงกันข้าม เพราะชาวชนบทโรมันกลับรับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนที่พวกเขาเรียกว่า “คนเถื่อน” จนแทบจะกลายเป็นคนเถื่อนเสียเอง
เหตุการณ์ที่อลาริกนำพวกเข้าปล้นเมืองเมื่อปี 410 นี่นะคะท่านผู้อ่าน ไม่ใช่จุดจบที่แท้จริงของโรมันตะวันตกแต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ซึ่งทำให้ชาวโรมตกตะลึง ด้วยเป็นครั้งแรกที่นครอมตะซึ่งไม่มีใครหาญสู้มาถึง 800 ปี ถูกข้าศึกเข้าย่ำยีชนิดคนโรมไม่มีทางสู้ รอยที่อลาริกทิ้งไว้กับชาวโรมันไม่ใช่การทำลายร้างอย่างในปี 454 ที่ราชา ไกเซอริค กษัตริย์ของพวกแวนดาลทำ แต่ก็เป็นรอยแผลบาดลึกที่ยากจะรักษา
ถึงแม้ว่าชาวโรมันไม่ได้ย่อยยับไปทั้งหมดในเวลานั้น และอาณาจักรโรมันตะวันตกซึ่งมีโรมเป็นเมืองหลวงยังคงอยู่ มีการบูรณะเมืองโรมให้รุ่งเรืองอีกครั้งในเวลาต่อมา และยังคงเป็นนครหลวงมาจนกระทั่งในปี 476 เมื่อจักรพรรดิ โรมิวลุส ออกุสตุส กษัตริย์องค์สุดท้ายถูกทหารรับจ้างของพระองค์ ขับลงจากตำแหน่ง จึงนับเป็นจุดจบอันแท้จริง ขณะที่ฟากตะวันออก อาณาจักรโรมันตะวันออกซึ่งมีคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง ยังคงถิ่นฐานบ้านเมืองมาจนถึง ค.ศ.1453 จึงโดนพวกเติร์กยึด
อย่างไรก็ตาม การปิดฉากของนครโรมตามประวัติศาสตร์ทิ้งปริศนาไว้ให้เราต้องขบคิดเหมือนกัน สิ่งนั้นก็คือ คำถามที่ว่า ทำไมเมืองโรมจึงตกเป็นของคนเถื่อนเร็วนัก ไม่มีใครตอบปัญหานี้ได้เลย ต่างคนต่างโทษว่าเป็นเพราะความร่ำรวย ความฟุ้งเฟ้อเกินขนาดของชาวโรมเอง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ว่าในปี 1969-1976 การขุดอุโมงค์ที่ ไซเรนเซสเตอร์(Cirencester) ทางใต้ของอังกฤษ ได้พบโครงกระดูก 450 โครง ในสุสานโบราณของโรมัน ซึ่งมีอายุสืบไปได้ถึงปลายศตวรรษที่ 4 ต่อกับต้นศตวรรษที่ 5 นี่ซิคะ ที่ความจริงบางอย่างก็เปิดเผยขึ้น
และนี้อาจเป็นระเบิดเวลาที่เตรียมพร้อมให้โรมล่มก็ได้
สิ่งที่พบนั้นคือ กระดูกส่วนใหญ่มีสารตะกั่วอยู่ในเนื้อกระดูกมากกว่าปริมาณปกติถึง 10 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงกระดูกเด็กหลายโครง ซึ่งมีผลกระทบอย่างแรงต่อการมีชีวิตอยู่ เพราะฉะนั้น คนพวกนี้จึงอาจตายเพราะรับสารตะกั่วมากเกินไป….!!
แม้ว่าความจริงข้อนี้จะไม่มีการพิสูจน์ แต่เราพอจะรู้เลาๆจากเรื่องราวบันทึกในสมัยเดียวกันว่า ในอาณาจักรโรมมีผู้คนจำนวนมากต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดหัว และแขนขาอ่อนเปลี้ยค่ะ อาการที่ว่านี้เป็นอาการเรื้อรังของการรับสารตะกั่วมากเกินไป ไซเรนเซสเตอร์ นับเป็นเมืองโรมในอังกฤษที่ใหญ่เป็นอันดับสอง สิ่งที่มีอยู่ที่นี่ก็น่าจะมีในนครรัฐของโรมทั่วไป
เป็นที่รู้กันแล้วว่าชาวโรมัน ภาคภูมิใจกับระบบการประปาของตัวเองยิ่งนัก ยิ่งผนวกกับที่ชาวโรมันตะวันตกมีเหมืองตะกั่วเป็นของตนเอง พวกเขาก็ได้ใช้ประโยชน์จากแร่ธรรมชาติอันมากมายโดยไม่ทันนึกถึงอันตรายของมัน เขาใช้ท่อตะกั่วส่งน้ำ ดื่มน้ำจากถ้วยตะกั่ว ทำอาหารในหม้อตะกั่ว แถมยังใช้สนิมตะกั่วเติมไวน์ให้ได้รสหวานเวลาน้ำตาลขากแคลน
ชาวบ้านโรมันธรรมดามีสิทธิได้รับตะกั่วจำนวนมากในช่วงชีวิต มันนำมาซึ่งอาการเงื่องหงอย ความอ่อนแรง ท้ายที่สุดมันทำให้คนมีลูกยาก พลเมืองที่ไม่เพิ่มขึ้นทำให้จักรพรรดิชาวโรมองค์ท้ายๆชักจะหวั่นวิตก พยายามส่งเสริมให้พลเมืองของพระองค์ผลิตทายาทกันให้มากขึ้น นี่อาจบ่งชี้ได้ว่าอาจมีภาวะขาดคนขึ้นในโรมได้
ตะกั่วอาจเป็นที่มาของรายได้แม้ว่าจะเป็นเนื้อแร่ที่ไม่ค่อยมีราคามากนัก แต่มันก็นำมาซึ่งความตายและการสูญเสียเผ่าพันธุ์โดยชนโรมันไม้ทันคาดคิด
สารตะกั่วอาจไม่ใช่เหตุเดียวที่จะพาโรมันตะวันตกไปสู่ความล่มจมในศตวรรษที่ 5 ก็จริงอยู่ค่ะท่านผู้อ่าน แต่เราอาจตอบปัญหาที่ว่าเหตุใดโรมันตะวันออกจึงอยู่ต่อมาได้ตั้ง 1,000 กว่าปี
คำตอบนั้นมีหลายประการ เช่นว่า อาณาจักรตะวันออกมีพรมแดนสั้นกว่า ทำให้มีผู้รุกรานน้อยกว่า และที่สำคัญอาณาจักรฟากนี้มีเหมืองตะกั่วน้อยกว่าฟากตะวันตกมาก หนำซ้ำผู้คนยังมีนิสัยการบริโภคต่างกันสิ้นเชิง
เพราะพวกเขาดื่มกินจากจานดินเผาและทำอาหารในหม้อดินเผาอีกเช่นกัน…..เฮ้อ
เกร็ดความรู้
ว่ากันว่าคนโรมต้องใช้น้ำเป็นจำนวนกว่า 220 ล้านแกลลอน(กว่าล้านคิว) ต่อวันสำหรับการอาบน้ำ สระน้ำสาธารณะ และน้ำพุ น้ำจำนวนมหาศาลนี้ส่งมาทางรางหินชนิดมีฝาปิดขนาดยักษ์ 10 สาย เป็นรางที่ทอดอยู่บนพื้น สะพานซุ้มโค้งที่ทำไว้สำหรับรับเส้นทางส่งน้ำโดยเฉพาะ(aquaduct) เราอาจจะยังเห็นซากอดีตนี้เหลืออยู่หลายที่ เช่น อะควาคลอเดียซึ่งอยู่ในเมืองใกล้กับกรุงโรม
อีกที่หนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ที่ Pontdu Gard ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่นี่ลำรางประปาหินชนิดทอดข้ามหุบเขาลึกถึง 160 ฟุต บนสะพานซุ้มโค้ง 3 ชั้น เป็นผลงานการวางแบบของ มาร์คุส อะกริปปา ผู้ซึ่งเป็นทั้งวิศวกรและทหาร ร่องรอยที่เหลืออยู่บ่งบอกว่า เป็นส่วนหนึ่งของระบบขนาดใหญ่ พาดผ่านเชิงเขาส่งน้ำไปยังเมืองนิมส์ ส่วนอันที่แน่ที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นท่อประปาที่อยู่ทางตอนเหนือของอาฟริกา ซึ่งวางอย่างคดเคี้ยวไปมาเป็นระยะทางกว่า 130 ไมล์ ข้ามทะเลทรายและภูเขานำน้ำมาจากแหล่งใหญ่สู่เมืองคาร์เธจ ซากของระบบยังคงเห็นได้ทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำถูกส่งมาถึงเมืองแล้วก็จะถูกแจกจ่ายไปสู่บ่อเก็บถังน้ำ และท่อประปาขนาดเล็กซึ่งก็จะมีประชากรบางส่วนมักหาทางต่อท่อเข้าบ้านตัวเองอย่างผิดกฎหมาย ด้วยท่อและถังทำจากตะกั่วซึ่งนับว่าเป็นโลหะที่เป็นอันตรายที่สุด เรื่องนี้ แม้ มาร์คัส วิทรูเวียส วิศวกรสำคัญจะออกมาเตือนผู้คน แต่ชาวโรมันตะวันตกระดับชาวบ้านธรรมดาก็ทำหูทวนลมเสีย
ก็ในเมื่อตะกั่วมีอยู่มากมาย พวกเขาเอามาทำเครื่องมือเครื่องใช้จำเป็นต่อชีวิตโดยไม่ต้องเสียสตางค์ไปซื้อหา แล้วจะเป็นอะไรไปเล่า…..พิษภัยของตะกั่วสมัยนั้นก็ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจน จนทำให้ผู้คนกลัวจนหัวหดเหมือนเดี๋ยวนี้
พิษภัยของความไม่รู้นั้นต่างหาก ที่เป็นเหตุให้ตนโรมอ่อนแอจนแทบสูญพันธุ์ หากไม่ล่มลงเสียก่อน
จากนิตยสารรายเดือน ต่วย’ตูนพิเศษ ประจำเดือน เมษายน 2547
December 19th, 2013 at 10:02 pm
This is very attention-grabbing, You happen to be really skilled blog writer. We have signed up with the supply and stay way up pertaining to looking for extra of your spectacular post. Also, I have got discussed your blog during my myspace